ยอมความในคดีอาญา คดีอาญาส่วนใหญ่ไม่สามารถทำการยอมความได้ แตกต่างจากในคดีแพ่งที่สามารถตกลงทำการประนีประนอมยอมความได้เสมอแม้ว่าศาล จะได้พิพากษาคดีแล้วและอยู่ในชั้นบังคับคดี ดังนั้นหากพิจารณาเรื่องการยอมความ สามารถแบ่งคดีอาญาออกได้เป็นสองประเภทคือ
1) ความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่สามารถยอมความกันได้ เพราะความผิดประเภทนี้ ขัดขวางความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตาย ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย
2) ความผิดต่อส่วนตัว หรือเรียกอีกชื่อว่าความผิดอันยอมความได้ เช่นความผิดฐานฉ้อโกง ทำให้เสียทรัพย์ บุกรุก ยักยอกทรัพย์ หมิ่นประมาท ฯลฯ ความผิดพวกนี้คู่กรณีสามารถทำการยอมความกันได้ในเรื่องการยอมความในคดีอาญานี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 “สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปดังต่อไปนี้ (3)ในความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
หลักเกณฑ์การยอมความในคดีอาญา
1) ต้องเป็นความผิดต่อส่วนตัว
2) ข้อตกลงต้องมีใจความชัดเจนว่า ผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความ หรือสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาต่อจำเลยแล้ว
คำพิพากษาฎีกาต่อไปนี้ ฎีกา 480/2518 การ ประนีประนอมยอมความกันในคดีแพ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้แสดงความประสงค์ที่จะสละ สิทธิในการดำเนินคดีอาญาต่อจำเลยหรือไม่ จะถือว่าสิทธิดำเนินคดีอาญาของโจทก์ระงับไปด้วยหาได้ไม่ การยอมความในคดีแพ่งที่จะมีผลให้คดีอาญาระงับไปนั้น จะต้องเป็นกรณีที่โจทก์ตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาต่อจำเลยด้วย
คำพิพากษาฎีกาที่ 897/2515 โจทก์ฟ้องคดีอาญาขอให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกง ต่อ มาได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งเรียกเงินคืนและเรียกเอาค่าเสียหายฐานละเมิดโดย ฉ้อโกงโจทก์ แล้วโจทก์จำเลยตกลงประนีประนอมยอมในคดีแพ่งเลิกคดีกันโดยไม่ได้ตกลงเลิกคดี อาญาด้วย ดังนี้ คดีอาญาที่ได้ยื่นฟ้องไว้แล้วยังคงมีอยู่ หาได้ระงับไปไม่
3) กฎหมาย ไม่ได้บังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้นแม้ตกลงกันด้วยวาจาก็สามารถมีผลเป็นการยอมความได้ (ต่างจากกรณีประนีประนอมยอมความในทางแพ่งที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ) แต่ในทางปฏิบัติควรมีหลักฐานเป็นหนังสือเพื่อง่ายต่อการพิสูจน์ผลของการยอมความ เมื่อ ได้ทำการยอมความกันโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น มีผลทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำความผิดได้ แม้ว่าอัยการจะเป็นโจทก์ก็ไม่สามารถฟ้องได้
ข้อสังเกต
-ถ้าไม่ใช่คดีความผิดต่อส่วนตัว แม้ว่าจะมีการยอมความกันก็ไม่มีผลทำให้สิทธิฟ้องคดีอาญานั้นระงับไป
-การที่ผู้กระทำผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย แล้วผู้เสียหายตกลงรับเงินดังกล่าวโดยไม่ได้แสดง เจตนาให้ชัดเจนว่าจะไม่ดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำผิด กรณีดังกล่าวนี้ไม่ถือว่ามีการยอมความใน คดีอาญา