จำนอง จำนำ แตกต่างกันอย่างไร
การจำนอง
จำนองคือ การที่ผู้จำนองเอาอสังหาริมทรัพย์ อันได้แก่ ที่ดิน บ้านเรือนเป็นต้น ไปตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจำนองหรือนัยหนึ่งผู้จำนองเอาทรัพย์สินไปทำหนังสือจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์ที่จำนองให้เจ้าหนี้ผู้จำนองอาจเป็นตัวลูกหนี้เอง หรือจะเป็นบุคคลภายนอกก็ได้ เช่น
นายดำ กู้เงินนายแดง 100,000 บาท เอาที่ดินของตนเองจำนองหรือนายเหลืองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเอาที่ดินจำนองจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินเป็นประกันหนี้นายดำ ก็ทำได้เช่นเดียวกันเมื่อจำนองแล้วถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เจ้าหนี้ก็มีอำนาจยึดทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ได้และมีสิทธิพิเศษได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้ธรรมดาทั่วไป
กู้เงินแล้วมอบโฉนด หรือ น.ส. 3 ให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้มิใช่จำนองเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิพิเศษเป็นเพียงเจ้าหนี้ธรรมดา แต่มีสิทธิยึดโฉนดหรือ น.ส. 3 ไว้ตามข้อตกลงจนกว่าลูกหนี้จะชำระหนี้ฉะนั้นถ้าจะทำจำนองก็ต้องจดทะเบียนให้ถูกต้อง
ทรัพย์สินที่จำนอง :
ทรัพย์สินที่จำนองได้ คืออสังหาริมทรัพย์อันหมายถึง ทรัพย์ที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ เช่น ที่ดิน บ้านเรือน เรือกสวนไร่นาเป็นต้น นอกจากนั้นสังหาริมทรัพย์ คือทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้บางอย่าง เช่นเรือกำปั่น เรือกลไฟ แพ ที่อยู่อาศัย และสัตว์พาหนะ ถ้าได้จดทะเบียนไว้แล้วก็อาจนำจำนองได้ดุจกันเมื่อเจ้าของทรัพย์นำไปจำนองไม่จำเป็นต้องส่งมอบทรัพย์ที่จำนองให้แก่เจ้าหนี้เจ้าของยังครอบครองใช้ประโยชน์เช่น อยู่อาศัยในบ้าน หรือทำสวนทำไร่หาผลประโยชน์ได้ต่อไปนอกจากนั้นอาจจะโอนขายหรือนำไปจำนองเป็นประกันหนี้รายอื่นต่อไป ก็ย่อมทำได้ส่วนเจ้าหนี้นั้นการที่ลูกหนี้นำทรัพย์ไปจดทะเบียนจำนองก็นับได้ว่าเป็นประกันหนี้ได้อย่างมั่นคงไม่จำเป็นต้องเอาทรัพย์นั้นมาครอบครองเอง
จำนำคืออะไร?
การจำนำ คือ บุคคลหนึ่ง เรียกว่า “ผู้จำนำ“ มอบสังหาริมทรัพย์ให้กับอีกบุคคลหนึ่ง เรียกว่า “ผู้รับจำนำ“ เพื่อประกันการชำระหนี้ โดยสังหาริมทรัพย์ หมายถึง ทรัพย์สินที่สามารถเคลื่อนที่ได้ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ แหวน สร้อย ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตอย่าง ช้าง ม้า โค กระบือ เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้จำนำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ บุคคลอื่นจะนำทรัพย์ของผู้จำนำไปจำนำแทนไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการยักยอกทรัพย์ หรือลักทรัพย์ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ผู้รับจำนำต้องระวังให้ดี ผู้รับจำนำมีสิทธิในการครอบครองทรัพย์สินที่จำนำ จนกว่าผู้จำนำจะมาชำระหนี้ไถ่ถอนคืน ขณะเดียวกันระหว่างที่จำนำอยู่ ผู้รับจำนำก็ต้องรับผิดชอบดูแลทรัพย์สินนั้น
เรียบเรียงโดย ทนายกิตติคุณ นุมานิต
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
–การบอกกล่าวบังคับจำนอง
-การบังคับจำนอง
–การจดจำนองที่ดิน มีอายุกี่ปี
–หนี้ประธานขาดอายุความ
–อสังหาริมทรัพย์ที่น่าสนใจ
–ราคาประเมินที่ดิน
–ค้นหาโฉนดที่ดิน