ความผิดต่อชีวิต
มาตรา ๒๘๘ ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
มาตรา ๒๘๙ ผู้ใด(๑) ฆ่าบุพการี(๒) ฆ่าเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำการตามหน้าที่(๓) ฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่บุคคลนั้นจะช่วยหรือได้ช่วยเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว(๔) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน(๕) ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย(๖) ฆ่าผู้อื่นเพื่อตระเตรียมการ หรือเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น หรือ(๗) ฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอา หรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ต้องระวางโทษประหารชีวิต
มาตรา ๒๙๐ ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใด ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๙ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี
มาตรา ๒๙๑ ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]
มาตรา ๒๙๒ ผู้ใดกระทำด้วยการปฏิบัติอันทารุณ หรือด้วยปัจจัยคล้ายคลึงกันแก่บุคคลซึ่งต้องพึ่งตน ในการดำรงชีพหรือในการอื่นใด เพื่อให้บุคคลนั้นฆ่าตนเอง ถ้าการฆ่าตนเองนั้นได้เกิดขึ้นหรือได้มีการพยายามฆ่าตนเอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]
มาตรา ๒๙๓ ผู้ใดช่วยหรือยุยงเด็กอายุยังไม่เกินสิบหกปี หรือผู้ซึ่งไม่สามารถเข้าใจว่าการกระทำของตนมีสภาพหรือสาระสำคัญอย่างไร หรือไม่สามารถบังคับการกระทำของตนได้ ให้ฆ่าตนเอง ถ้าการฆ่าตนเองนั้นได้เกิดขึ้นหรือได้มีการพยายามฆ่าตนเอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]
มาตรา ๒๙๔ ผู้ใดเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่ ถึงแก่ความตายโดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้ที่เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้นั้นแสดงได้ว่า ได้กระทำไปเพื่อห้ามการชุลมุนต่อสู้นั้น หรือเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4291/2560โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นขณะเกิดเหตุ แต่โจทก์มีคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสามประกอบกับคำเบิกความของพนักงานสอบสวนแสดงรายละเอียดการกระทำความผิดตั้งแต่ตอนจำเลยที่ 1 ทาบทามว่าจ้างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ฆ่าผู้ตายซึ่งเป็นภรรยาจำเลยที่ 1 ประชุมวางแผน ลงมือฆ่า ปลดเอาสร้อยข้อมือของผู้ตายกับแสร้งเอาสร้อยคอของจำเลยที่ 1 ไปซ่อน แล้วจำเลยที่ 1 ใช้เศษไม้ขูดคอตนเองให้เป็นรอยเพื่อแสร้งทำว่าถูกคนร้ายตี และจำเลยทั้งสามได้แสดงแผนประทุษกรรมประกอบคำรับสารภาพ ทั้งจำเลยที่ 1 ที่ 2ได้ขอขมาศพผู้ตายกับบิดาผู้ตาย แสดงถึงความสำนึกผิด และจำเลยที่ 1 ได้พาพนักงานสอบสวนไปเอาสร้อยข้อมือผู้ตายกับสร้อยคอของตนตรงที่ซ่อนไว้ ส่วนจำเลยที่ 2 ได้พาพนักงานสอบสวนไปเอาเหล็กขูดชาพท์ซึ่งใช้แทงผู้ตายที่ทิ้งไว้ขณะวิ่งหนี กับได้พบมีดปลายแหลมที่จำเลยที่ 3 ใช้แทงผู้ตายแล้วทิ้งไว้ ตรงตามสถานที่ที่ระบุไว้ในคำให้การ และจำเลยที่ 2 ได้พาพนักงานสอบสวนไปพบ อ.ที่ต่างจังหวัดให้นำไปยึดเอาสร้อยคอที่ร้านขายทองคืนมาด้วย นอกจากนี้โจทก์ยังมีคำให้การชั้นสอบสวนของ น. ร. กับ อ.ยืนยันว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ขอให้ น.นำสร้อยคอของกลางไปขายตรงตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ 3 พยานโจทก์จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1วานให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันพาอาวุธไปฆ่าผู้ตายและลักทรัพย์ตามฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6020/2559พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ร่วมเดินทางไปกับพวกไปที่เกิดเหตุโดยทราบมาก่อนแล้วว่าพวกของจำเลยที่ 1 จะไปทำร้ายผู้เสียหาย และหลังเกิดเหตุก็หลบหนีไปด้วยกัน ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะร่วมทำร้ายผู้เสียหายกับพวกซึ่งมีการคิดไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาเพียงต้องการทำร้ายผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเท่านั้น แต่เมื่อผลการกระทำของพวกจำเลยที่ 1 ไม่ทำให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ แต่พลาดไปถูกผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผลแห่งการกระทำนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 296 ประกอบมาตรา 80 และฐานทำร้ายผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและไม่มีเจตนาฆ่า แต่เป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยพลาด ตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคสอง ประกอบมาตรา 60 อันเป็นความผิดหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยพลาดตามที่โจทก์ฟ้อง และเป็นความผิดได้ในตัว ศาลฎีกาสามารถลงโทษในความผิดดังกล่าวตามที่ได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5505/2559การที่จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งมีสภาพร้ายแรงยิงเข้าไปที่ขอบหน้าต่างด้านบนของห้องของบ้านเกิดเหตุ โดยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเมื่อกระสุนปืนกระทบขอบหน้าต่างแล้วจะหักเหไปในทิศทางใด จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนอาจแฉลบไปถูกผู้ที่อยู่ภายในห้องถึงแก่ชีวิตได้ จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5211/2559การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท ส่วนความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และมาตรา 390 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 90 พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษเบากว่าความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 390 เพื่อให้ความผิดทั้งหมดรวมทั้งความผิดที่มีโทษหนักกว่าเลิกกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 ได้ แม้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยไปแล้วก็ตาม การเปรียบเทียบปรับย่อมไม่ชอบ คดีอาญาไม่เลิกกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 ศาลล่างทั้งสองจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 390 ได้