ซื้อรถยนต์ใหม่มา แล้วเกิดความชำรุดบกพร่อง ใครรับผิด ?
คำพิพากษาฎีกา 2767/2560
โจทก์ยอมรับว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อมีความชำรุดบกพร่องเกี่ยวกับระบบวิทยุและการปรับเบาะนั่ง ซึ่งเป็นข้อชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นภายหลังการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อและเป็นข้อชำรุดบกพร่องที่ไม่อาจเห็นเป็นประจักษ์ในเวลาส่งมอบ สอดคล้องกับบันทึกรายการตรวจซ่อมบำรุง โดยการแจ้งซ่อมทั้งสี่ครั้งเป็นเวลาหลังจากที่จำเลยที่ 1 รับรถยนต์เช่าซื้อไปไม่ถึงสามเดือน เมื่อระบบไฟเตือนที่ขึ้นที่หน้าปัดเวลาสตาร์ทเครื่องและระบบเซ็นเซอร์ของเบาะเป็นอุปกรณ์ส่วนหนึ่งที่เกี่ยวโยงถึงระบบเครื่องยนต์และไฟฟ้าซึ่งเป็นส่วนประกอบ
อันเป็นสาระสำคัญของรถยนต์ หากเกิดปัญหาขึ้นย่อมมีผลโดยตรงให้ระบบเครื่องยนต์หรือไฟฟ้ามีปัญหาใช้การไม่ได้อย่างสมบูรณ์และส่งผลให้เครื่องยนต์และระบบอื่น ๆ ของรถยนต์ใช้การไม่ได้ไปด้วย ถือได้ว่าความชำรุดบกพร่องนั้นถึงขนาดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งหมายจะใช้เป็นปกติ ซึ่งถือเป็นข้อสาระสำคัญและเมื่อพิจารณาถึงรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งเป็นรถใหม่ กำหนดราคาค่าเช่าซื้อรวมผลประโยชน์และภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินสูงถึง 3,678,960 บาท ย่อมเป็นความคาดหวังของผู้ซื้อหรือผู้เช่าซื้อในฐานะผู้บริโภคที่จะต้องได้รับสินค้าที่ดีและมีคุณภาพที่สมบูรณ์สามารถนำไปใช้งานได้โดยไม่เกิดปัญหา เมื่อโจทก์ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 โดยรถยนต์มีความชำรุดบกพร่องไม่มีความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งหมายจะใช้เป็นปกติ โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 และมาตรา 549
ดังนั้น จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อซึ่งมิได้เป็นฝ่ายผิดนัดหรือผิดสัญญาย่อมมีสิทธิที่จะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าโจทก์จะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369 โดยการจัดการแก้ไขรถยนต์ที่เช่าซื้อให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตามประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาหรือเปลี่ยนรถคันใหม่ให้แก่ผู้เช่าซื้อ และเมื่อจำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อส่งมอบกลับคืนแก่โจทก์จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันได้