ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา
- ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) คืออะไร
ทรัพย์สินทางปัญญา หมายถึง ผลงานอันเกิดจากการประดิษฐ์ คิดค้น หรือสร้างสรรค์ของมนุษย์ ซึ่งเน้นที่ผลผลิตของสติปัญญาและความชำนาญ โดยไม่คำนึงถึงชนิดของการ
สร้างสรรค์หรือวิธีในการแสดงออก เช่น สินค้าต่าง ๆ การบริการ กรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม เป็นต้น
- ทรัพย์สินทางปัญญามีกี่ประเภท
ในทางสากล ทรัพย์สินทางปัญญาแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม (Industrial Property) และ ลิขสิทธิ์ (Copyright)
- ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม (Industrial Property) คือ อะไร
ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม หมายถึง ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เกี่ยวกับสินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ได้พัฒนาหรือคิดค้นขึ้นใหม่ นอกจากนี้ยังรวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์
เครื่องหมายการค้า ชื่อและถิ่นที่อยู่ทางการค้า โดยรวมถึงแหล่งกำเนิดและการป้องกันการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
- ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม มีกี่ประเภท
ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม ได้แก่ สิทธิบัตร (Patent) , แบบผังภูมิของวงจรรวม (Layout-Designs of Integrated Circuit), เครื่องหมายการค้า (Trademark) ,
ความลับทางการค้า (Trade Secrets) , ชื่อทางการค้า (Trade Name) และ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication)
- ลิขสิทธิ์ (Copyright) คือ อะไร และได้รับการคุ้มครองอย่างไร
ลิขสิทธิ์ หมายถึง สิทธิแต่เพียงผู้เดียวของผู้สร้างสรรค์ที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้นตามประเภทลิขสิทธิ์ที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ งานวรรณกรรม
นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียง แพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบทั้งโดยจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ นอกจากนั้นกฎหมายลิขสิทธิ์ยังให้ความคุ้มครองถึงสิทธิของนักแสดงด้วย อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองลิขสิทธิ์ ไม่ครอบคลุมถึงความคิดหรือขั้นตอน กรรมวิธีหรือระบบ วิธีใช้หรือทำงาน แนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์
- สิทธิบัตร (Patent) คือ อะไร
สิทธิบัตร คือ หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ (Invention) หรือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ (Industrial Design) ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่
สิทธิบัตรการประดิษฐ์ (Invention Patent) สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Design Patent) และอนุสิทธิบัตร (Petty Patent) ซึ่งผู้ทรงสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร มีสิทธิเด็ดขาด หรือ สิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการแสวงหาผลประโยชน์จากการประดิษฐ์ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสิทธิบัตร หรือ อนุสิทธิบัตรนั้น ภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด
- ประเภทของสิทธิบัตร
สิทธิบัตร มี 3 ประเภท ได้แก่
– สิทธิบัตรการประดิษฐ์ (Invention Patent) หมายถึง การให้ความคุ้มครองการคิดค้นเกี่ยวกับลักษณะองค์ประกอบโครงสร้าง หรือกลไกของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกรรมวิธีในการผลิต การเก็บรักษา หรือการปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์
– สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Design Patent) หมายถึง การให้ความคุ้มครองความคิดสร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับรูปร่างลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์ องค์ประกอบของลวดลาย หรือสีของผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รวมทั้งหัตถกรรมได้ และแตกต่างไปจากเดิม
– อนุสิทธิบัตร (Petty Patent) คือ การให้ความคุ้มครองการประดิษฐ์จากความคิดสร้างสรรค์ที่มีระดับการพัฒนาเทคโนโลยีไม่สูงมาก โดยอาจเป็นการประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใหม่ หรือปรับปรุงจากการประดิษฐ์ที่มีอยู่ก่อนเพียงเล็กน้อย
- ทำไมจึงควรขอรับสิทธิบัตร
ผู้ที่ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ควรขอรับสิทธิบัตร เพื่อให้ได้รับการตอบแทนจากสังคม ได้แก่
– การคุ้มครองสิทธิอันชอบธรรมของผู้ประดิษฐ์และผู้ออกแบบ
– การได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตร เพื่อป้องกันมิให้ผู้อื่นแสวงหาประโยชน์จากผลงานดังกล่าวนั้นโดยมิชอบ ซึ่งผู้ประดิษฐ์และผู้ออกแบบสามารถที่จะนำการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรนั้นไปผลิต จำหน่าย นำเข้ามาในราชอาณาจักร หรืออนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิบัตรนั้นโดยได้รับค่าตอบแทน
- อายุการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตร
สิทธิบัตรการประดิษฐ์ มีอายุ 20 ปี นับแต่วันขอรับสิทธิบัตรสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ มีอายุ 10 ปี นับแต่วันขอรับสิทธิบัตร
ที่มา : ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยขอนแก่น